วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สคบ. ช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างไร

รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภค
 
            ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาดำเนินการ
ต่อไป ผู้บริโภคทุกท่านที่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือได้รับอันตรายจากสินค้าหรือบริการใด สามารถร้องเรียนมาที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง
ผู้บริโภค ทำเนียบรัฐบาล กทม.10300
 โดยการเขียน จดหมาย ส่งตู้ ป.ณ. 99 กรุงเทพฯ 10300 หรือมาด้วยตนเอง หรือโทรศัพท์
สายด่วนร้องทุกข์โทร. 1166
 
การร้องเรียน หรือการช่วยกันสอดส่องและแจ้งมายังสำนักงานฯ นั้นเป็นสิทธิที่ ผู้บริโภคพึง กระทำได้ นอกจากนั้น
ยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ประกอบธุรกิจได้สำนึกและบรรเทาการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้บริโภคได้บ้าง และประการสำคัญก็คือ เป็นการช่วย ให้สำนักงานฯ 
ทราบปัญหาของผู้บริโภคและดำเนินการช่วยเหลือได้เต็มที่ ซึ่งในการช่วยเหลือผู้บริโภคในด้านนี้ สำนักงานฯ มี สายงานที่รับผิดชอบอยู่โดยตรง คือ 
กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลากและ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา โปรดระลึกอยู่เสมอว่าท่านไม่จำเป็นต้องอดทน
ต่อความไม่ปลอดภัยหรือการเอารัดเอาเปรียบ จากผู้ประกอบธุรกิจอีกต่อไป ผู้บริโภคทุกท่านมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง
 
ติดตาม และสอดส่องพฤติกรรม
            พฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และจัดให้มี การทดสอบหรือพิสูจน์สินค้า หรือบริการ
ใดๆตามที่เห็นสมควรและจำเป็น เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ทั้งนี้ เพราะในปัจจุบันมีการเสนอสินค้าหรือบริการต่างๆ ต่อผู้บริโภคเป็นจำนวนมากและ
เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้วิธีการและเทคนิคใหม่ๆ ในทางการตลาดและทางการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขาย โดยทั่วไปผู้บริโภคไม่อาจทราบภาวะตลาดและ
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณภาพและราคา ของสินค้าหรือบริการนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง สำนักงานฯ จึงต้องมีบทบาทในการติดตามและสอดส่อง พฤติการณ์ของ
ผู้ประกอบธุรกิจ และดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์ในบางครั้ง เป็นการช่วยเหลือ ผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมตามสมควร
 
สนับสนุนหรือทำการศึกษาและวิจัยปัญหา
 
            เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่น เพื่อที่จะได้ดำเนินการช่วยเหลือ ผู้บริโภคได้ตรงกับปัญหาและความต้องการ 
ตัวอย่างในการดำเนินการในข้อที่ผ่านมาได้แก่ การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาปราบศัตรูพืชและการสำรวจทัศนคติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
 
ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค
 
            ในทุกระดับการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยและอันตรายที่อาจได้รับจากสินค้าหรือบริการผู้บริโภคควรจะได้ เรียนรู้และเข้าใจปัญหาตลอดจนวิธีการ
ป้องกันหรือหลีกเลี่ยง เพื่อที่จะได้สามารถคุ้มครองตนเองในเบื้องต้นก่อนนอกเหนือจากความช่วยเหลือจากรัฐบาลการส่งเสริมและการสนับสนุนให้มี
การศึกษาแก่ผู้บริโภคในทุกระดับจึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญ อันหนึ่งของสำนักงานฯ
 
ดำเนินการเผยแพร่วิชาการ
 
           ให้ความรู้และการศึกษาแก่ผู้บริโภค เพื่อสร้างนิสัยในการบริโภคที่เป็นการส่งเสริมพลานามัย ประหยัด และใช้ทรัพยากร ของชาติให้เป็นประโยชน์
มากที่สุด โดยสำนักงานฯ มีสายงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรงคือ กองเผยแพร่และ ประชาสัมพันธ์ ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ ทางวิชาการ
ในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทั้งทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นยังมีเอกสาร บทความ ข่าวสาร จากสำนักงานฯ แจกฟรีแก่ผู้สนใจอีกด้วยเป็นการส่งเสริม ให้ผู้บริโภคมีความรู้พื้นฐานในด้านต่างๆ อย่างกว้างๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันการเผยแพร่ความรู้ของ
สำนักงานฯ นั้นส่วนใหญ่จะเสนอสาระประโยชน์ด้วยถ้อยคำและภาษาที่เข้าใจง่ายแต่แฝง ความรู้ทางวิชาการไว้
 
ประสานงานกับส่วนงานราชการ
 
            หน่วยงานอื่นของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมส่งเสริม หรือกำหนดมาตรฐานของสินค้าหรือบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภท
อุปโภคบริโภค สคบ. มีสายงานรับผิดชอบในด้านนี้คือ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลากและกองคุ้มครอง ผู้บริโภคด้าน
สัญญา ทำงานประสานงานกับส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย และเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการ ดังนี้ 
          - สินค้าที่เป็นอันตราย เช่น อาหารผสมสีย้อมผ้า อาหารไม่บริสุทธิ์ 
          - สินค้าที่ไม่ปลอดภัย เช่น พืชผลไม้ซึ่งมียาป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ จะประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามที่เห็นสมควร 
          - สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน เช่น น้ำมันปลอมปน สินค้าเลียนแบบ 
          - สินค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น ขายสินค้าเกินราคา สินค้าที่มีปริมาณไม่ตรงตามมาตราชั่ง ตวง วัด จะประสานงานกับกรม การค้าภายในกรมทะเบียน
การค้าและเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจออกดำเนินการตรวจสอบ จับกุมและดำเนินคดี 
          - บริการที่เอาเปรียบผู้บริโภค สินค้าหรือบริการที่โฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความเป็นจริง สินค้าที่แสดงฉลาก หลอกลวงคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
จะกำหนดมาตรการในการดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการเหล่านี้ด้วยและสำนักงานฯ ก็มีหน้าที่ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ เหล่านั้นอยู่เสมอ
 
ปฏิบัติงานอื่นๆตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการเฉพาะเรื่องมอบหมาย
 
            ที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือการแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิด ความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของ
ผู้บริโภค โดยอาจระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้ นอกจากนั้นยังมีการประสานงานเร่งรัดพนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ
หรือ หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ให้ปฏิบัติการตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด หรือกล่าวง่ายๆ คือ เป็นตัวแทนของผู้บริโภค คอยประสานงานเร่งรัด
ให้หน่วยงานซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ ดำเนินการ เพื่อคุ้มครองประโยชน์สุขของผู้บริโภค ประการสุดท้ายที่สำคัญคือสำนักงานฯ ยังมีกองนิติการซึ่ง
รับผิดชอบใน ด้านกฎหมายสามารถจะดำเนินการคดีเพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของ ผู้บริโภคในศาลตามที่คณะกรรมการ มอบหมายและ
ฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น