วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา

การคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา
             กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคได้กำหนดว่า การโฆษณาสินค้า หรือ บริการนั้นจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือ ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม และรวมถึงการโฆษณาในลักษณะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือ จิตใจ หรือ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้บริโภค ลักษณะของข้อความโฆษณาที่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย คุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่
1.  ข้อความที่เป็นเท็จ หรือเกินจริง เช่น การใช้ข้อความโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมยูเอชทีว่า เป็นนมโค 100 % ซึ่งเมื่ออ่านฉลากโภชนาการที่บรรจุกลับมีส่วนผสมแยกให้เห็นว่า บางยี่ห้อมีนมโคผสมเพียง 50 % หรือ มากที่สุด 85 % เท่านั้น
2.  ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และบริการ เช่น การโฆษณาว่าผู้ประกอบธุรกิจจะมอบแหวนเพชรให้ฟรีเพียงชำระเงิน 90 บาท เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมในการส่งและบรรจุหีบห่อ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าแหวนมีราคาต้นทุนนำเข้ามาจากประเทศฮ่องกง เป็นแหวนที่เจียระไนจากเศษเพชรมีมูลค่าวงละ 27.50 บาท ค่าภาษีอากรในการนำเข้าวงละ 14.17 บาท รวม 41.67 บาท น้อยกว่าค่าธรรมเนียมในการส่งถึง 48.33 บาท จึงเป็นการใช้ข้อความโฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ค่าธรรมเนียมส่งเป็นส่วนประกอบเล็กน้อย เมื่อเทียบกับมูลค่าของแหวนเพชรที่มีราคาสูง
3.  ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรง หรือ โดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียวัฒนธรรมของชาติ เช่น การโฆษณาในลักษณะนำภาพหญิงสาวสวมชุดว่ายน้ำ พร้อมระบุข้อความเชิญชวนให้โทรศัพท์มาคุย เช่น เพื่อความสุขที่สุดยอดที่คุณเลือกสรรได้จากน้อง ๆ สาวสวยสุดเซ็กซี่ และรวยเสน่ห์ มีให้คุณเลือกมากมาย อยากรู้โทรมาซิคะ เป็นต้น
4.    ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยก หรือ เสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน
5.  ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น การโฆษณารถยนต์ยี่ห้อหนึ่งโดยจัดให้มีการเสี่ยงโชคเพื่อรับรางวัล คือ รถยนต์ บัตรกำนัล และของรางวัลอื่น ๆ ซึ่งการจัดรายการดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของบริษัท เข้าลักษณะเป็นการจัดให้มีรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคในการประกอบกิจการค้า ต้องกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการเสี่ยงโชค และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน แต่บริษัทไม่มีหลักฐานการยื่นขออนุญาต และโฆษณาไม่ระบุวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของการเสี่ยงโชค การโฆษณาจึงเข้าลักษณะของข้อความที่กำหนดในกฎกระทรวงถือว่าเป็นการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
               ในกรณีคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเห็นว่า ข้อความในโฆษณามีลักษณะอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้โฆษณาแก้ไขข้อความ หรือห้ามการใช้ข้อความบางอย่างในการโฆษณา หรือ ห้ามใช้วิธีการนั้นในการโฆษณา หรือ ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น